สามารถแบ่งกลุ่มของระบบสารสนเทศต่าง ๆ ได้ ดังนี้
1. ระบบสารสนเทศสนับสนุนงานสำนักงานและการบริหาร มีดังนี้
1.1 ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (Management Information System : MIS) เป็นระบบที่ใช้ในการดำเนินงานด้านการคลังและบุคลากร ประกอบด้วยระบบย่อย ได้แก่ ระบบงบประมาณ, ระบบบัญชีและการเงิน, ระบบจัดซื้อจัดจ้าง, ระบบพัสดุและครุภัณฑ์, ระบบบุคลากร และระบบเงินเดือน ซึ่งในระยะที่ผ่านมามีการพัฒนาและปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไป
1.2 ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document : e-DOC) เป็นระบบที่ใช้ในการรับ ส่ง และเวียนเอกสารระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ภายในสถาบัน เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งานระบบ เนื่องจากสามารถส่งและรับหนังสือผ่านระบบ โดยเฉพาะการเวียนหนังสือไม่จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือ และลดเวลาในการส่งหนังสือ รวมทั้งข้อมูลการรับส่งเอกสารถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ สามารถสืบค้นได้อย่างรวดเร็ว
1.3 ระบบจองทรัพยากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Reservation System : ERS) เป็นระบบที่ใช้ในการบริหารจัดการด้านการใช้ทรัพยากรของสถาบัน เช่น ห้องเรียน ห้องประชุม ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ยานพาหนะ อุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ และบริการด้านกีฬา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขอใช้ การอนุมัติการใช้งาน การจัดห้องเรียนโดยอัตโนมัติและการติดตามผลการใช้งานทรัพยากร รวมทั้งการจัดทำรายงานต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความพึงพอใจของ นักศึกษา อาจารย์และเจ้าหน้าที่ ที่มาใช้บริการ
1.4 ระบบติดตามการเข้าร่วมกิจกรรมและการใช้งานทรัพยากร (Attendance Tracking System : ATS) เป็นระบบที่สนับสนุนให้เกิดการใช้งานทรัพยากรที่คุ้มค่า และบริหารการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังจะช่วยในการเก็บข้อมูลของผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย โดยระบบจะใช้ในการติดตามการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของบุคลากรในสถาบันว่ามีการใช้งานทรัพยากรต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ในส่วนของนักศึกษาจะนำมาใช้ในการติดตามการเข้าเรียนของนักศึกษา และในส่วนของบุคลากรสามารถใช้ในการติดตามการเข้าร่วมกิจกรรม การประชุมและงานสัมมนาต่าง ๆ ได้
1.5 ระบบบริหารโครงการและงบประมาณ (Project and Budget Management System : PBS) เป็นระบบที่ใช้ในการดำเนินการด้านงบประมาณตั้งแต่การขอตั้งงบประมาณ การติดตามการดำเนินการของโครงการ และติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารหรือผู้ใช้งานข้อมูลสามารถทราบถึงสถานะของโครงการได้ว่าดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด ใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วเท่าไหร่ การดำเนินการบรรลุผลมากน้อยเพียงใด
1.6 ระบบสารสนเทศการบริหารงานบุคคล (Human Resource Information System : HRIS) จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ด้านงานบริหารงานบุคคล โดยบุคลากรสถาบันสามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ของตนเองผ่านระบบแทนการส่งกระดาษแบบเดิม และผู้ประเมินสามารถทำการประเมินผ่านระบบได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ระบบยังสามารถแจ้งเตือนกรณีบุคลากรครบกำหนดที่จะสามารถขอตำแหน่งที่สูงขึ้นได้อีกด้วย ระบบประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1.6.1 การประเมินภาระงานทางวิชาการ
1.6.2 การประเมินสมรรถนะ
1.6.3 การประเมินผลการปฏิบัติงาน
1.6.4 ความก้าวหน้าในอาชีพ
1.7 ระบบบริหารจัดการยุทธศาสตร์ (Strategy Management System : SMS) เป็นระบบที่ใช้ในการเก็บข้อมูลการจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับสถาบันและระดับหน่วยงานต่าง ๆ ของสถาบัน รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนบริหารราชการแผ่นดินและนโยบายของรัฐ พร้อมทั้งมีการติดตาม ประเมินผล และรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของตัวชี้วัดสถาบัน ตัวชี้วัด สงป. ตัวบ่งชี้ สกอ. ตัวชี้วัด ก.พ.ร. และตัวชี้วัด สมศ. เพื่อให้สอดรับกับงานประกันคุณภาพของสถาบัน
1.8 ระบบฝึกอบรม (Training Management System : TMS) เป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรฝึกอบรม ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาว โดยสามารถจัดการในทุกกระบวนการ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์หลักสูตรของสถาบัน การรับสมัคร ขึ้นทะเบียน ลงทะเบียนฝึกอบรม การชำระเงิน การประเมินผล การพิมพ์ใบประกาศนียบัตรรับรองหลักสูตรฝึกอบรม จนถึงการติดตามส่งข้อมูลข่าวสารไปยังผู้เรียนผ่านระบบลงทะเบียน
1.9 ระบบบริหารจัดการงานวิจัย (Research Management System : RMS) พัฒนาขึ้นเพื่อบริหารจัดการข้อมูลงานวิจัย และงานบริการวิชาการ ซึ่งรองรับกระบวนการทำงานของการพิจารณาให้ทุนงานวิจัยต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการให้นักวิจัยยื่นข้อเสนองานวิจัย การติดตามโครงการที่กำลังดำเนินการวิจัย รวมถึงการประเมินผลหลังสิ้นสุดการวิจัยแล้ว ทั้งนี้ระบบจะเชื่อมโยงและนำเข้าข้อมูลจากฐานข้อมูลต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสถาบัน (ระบบบริหารงานวิจัยของประเทศ : NRMS) ได้
2. ระบบสารสนเทศสนับสนุนผู้บริหารและการประกันคุณภาพสถาบัน มีดังนี้
2.1 ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร (Executive Information Systems : EIS) จัดทำขึ้นเพื่อใช้จัดเก็บข้อมูลสนับสนุนการทำรายงานแก่ผู้บริหาร โดยการทำงานของระบบจะแยกออกจากระบบปฏิบัติงาน (TPS) ซึ่งระบบนี้ มีการนำข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร(MIS) ระบบบริการการศึกษา และระบบสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพและบริหารจัดการ (NIDA QAIS) นำเข้าสู่ระบบคลังข้อมูล (Data Warehouse) และมีเครื่องมือในการจัดทำรายงานต่าง ๆ และเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล (Decision Support System) เพื่อช่วยให้ผู้บริหารสามารถนำสารสนเทศที่ได้จากระบบมาช่วยในการบริหารงานสถาบันต่อไป โดยคลังข้อมูลที่มีในปัจจุบัน มีดังนี้
2.1.1 คลังข้อมูลด้านงบประมาณ
2.1.2 คลังข้อมูลด้านบัญชีการเงิน
2.1.3 คลังข้อมูลด้านบุคลากร
2.1.4 คลังข้อมูลด้านงานประกันคุณภาพ
2.1.5 คลังข้อมูลนักศึกษา
2.1.6 คลังข้อมูลผู้สมัคร
2.2 ระบบสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพและการบริหารจัดการ(Quality Assurance Information System : QAIS) เป็นระบบที่รวบรวมข้อมูลด้านการประกันคุณภาพของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้แก่ ข้อมูลหน่วยงานต่างๆ บุคลากรของสถาบัน ข้อมูลด้านการเรียน การสอน การบริการวิชาการ การพัฒนาบุคลากร ผลงานวิจัย กิจกรรมต่าง ๆ ของสถาบัน และยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบสารสนเทศต่าง ๆ ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูลบุคลากรจากระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS) การเชื่อมโยงข้อมูลภาระงานสอนของอาจารย์จากระบบบริการการศึกษา
3. ระบบสารสนเทศสนับสนุนการเรียนการสอน มีดังนี้
3.1 ระบบบริการการศึกษา เป็นระบบที่ใช้เพื่องานบริการการศึกษา ประกอบด้วยระบบย่อย ได้แก่ ระบบรับสมัคร ระบบทะเบียนนักศึกษา และระบบทุนการศึกษา โดยปัจจุบันระบบรับสมัครและระบบลงทะเบียนได้มีการทำเป็นลักษณะออนไลน์ เพื่อให้ผู้สมัครและนักศึกษาสามารถดำเนินการได้เอง
3.2 ระบบการสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Testing) เป็นระบบที่ใช้ในการจัดสอบทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดความสะดวกกับผู้เข้าสอบและทราบผลการสอบได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันใช้ในการสอบเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ภาคปกติ และการสอบจัดระดับความรู้ความสามารถทางการใช้คอมพิวเตอร์
3.3 ระบบการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) เป็นระบบที่ใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งอาจารย์ผู้สอนสามารถจัดทำรายวิชา นำขึ้นระบบเพื่อให้นักศึกษาเข้าไปศึกษาด้วยตนเองได้ นอกจากนี้ในระบบยังมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนอีกด้วย
3.4 ระบบประเมินผลการเรียนการสอนทางอิเล็กทรอนิกส์ (EVS) เป็นระบบที่ใช้ประเมินผลการเรียนการสอนเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของอาจารย์ผู้สอน โดยนักศึกษาเป็นผู้กรอกข้อมูลการประเมินด้วยตนเอง ทำให้สถาบันและอาจารย์ผู้สอนมีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงการสอนของอาจารย์ผู้สอนได้
3.5 ระบบฐานข้อมูลหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (Thai Qualifications Framework : TQF) เป็นระบบบริหารจัดการงานหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ โดยอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหลักสูตร งานวิชาการคณะ ตลอดจนอาจารย์ประจำวิชา ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถสร้างมคอ. ตามรูปแบบต่างๆ และติดตามการบันทึกข้อมูลได้ ตลอดจนการจัดพิมพ์รายงานของระบบ ทั้งนี้ระบบสามารถเรียกใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลระบบสารสนเทศเพื่อการบริการการศึกษาของกองบริการการศึกษา ส่งผลให้มีการบริการข้อมูลที่สะดวกรวดเร็ว และลดข้อผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้
3.6 ระบบการเขียนวิทยานิพนธ์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Thesis) เป็นระบบเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาในการเขียนโครงร่างวิทยานิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ โดยสถาบันจะได้รับข้อมูลโครงร่างผ่านระบบ ซึ่งไม่ต้องอาศัยกระบวนการตรวจรูปเล่มวิทยานิพนธ์ด้วยเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงช่วยให้กระบวนการส่งวิทยานิพนธ์มีความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
4. ระบบสารสนเทศสนับสนุนงานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ มีดังนี้
4.1 ระบบสถิติการใช้งานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ใช้ในการออกรายงานสถิติการใช้งานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ เพื่อดูความถี่ในการใช้งานห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ว่าใช้งานช่วงเวลาไหน มากน้อยเพียงใด เพื่อประเมินความพอเพียงของทรัพยากรว่าเหมาะสมหรือไม่ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนทรัพยากรของห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์
4.2 ระบบโควตาการพิมพ์ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และระบบโควตาการพิมพ์ผ่านเครือข่ายไร้สาย เป็นระบบที่ให้บริการด้านการพิมพ์งานของนักศึกษา ซึ่งนักศึกษาสามารถซื้อโควตาเพื่อพิมพ์งานในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์หรือพิมพ์จากเครื่องของตนเองผ่านเครือข่ายไร้สายได้
5. ระบบสารสนเทศอื่น ๆ ได้แก่
5.1 ระบบฐานข้อมูลศิษย์เก่าสัมพันธ์ เป็นระบบเพื่อจัดเก็บข้อมูลศิษย์เก่าของสถาบัน ข้อมูลทั้งหมดจะได้รับการตรวจสอบความถูกต้อง และแก้ไขให้เป็นปัจจุบัน โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบฐานข้อมูลศิษย์เก่าสัมพันธ์มีความน่าเชื่อถือ สามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้